ยินดีต้อนรับค่ะ

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

บันทึกการเข้าเรียนครั้งที่5


วันที่ 13 กรกฎาคม 2555

         ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงานกลุ่ม ที่อาจารย์มอบหมายให้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ทั้งหมดมีอยู่ 5 กลุ่ม ดังนี้

          กลุ่มที่ 1 เรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 4 ขวบ 
          กลุ่มที่ 2 เรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 3 ขวบ
          กลุ่มที่ 3 เรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 2 ขวบ
          กลุ่มที่ 4 เรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 6 ขวบ
          กลุ่มที่ 5 เรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 9-11 ขวบ
โดยกลุ่มของดิฉันได้ เรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 4 ขวบ

ความรู้เพิ่มเติม

การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย


  ภาษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการคิด ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาในขั้นสูง ภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร ทั้งในการแสดงออกถึงความต้องการ ความรู้สึกนึกคิด และข่าวสาร อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ โดยเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้มนุษย์สามารถถ่ายทอดความคิดที่เป็นนามธรรมได้ การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

        การวางแผนการจัดประสบการณ์ทางภาษาควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่าการจัดประสบการณ์ มีความหมายที่กว้างกว่าการสอน หรือการถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการจัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทางภาษา และควรทำความเข้าใจด้วยว่าการเรียนรู้ภาษาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการรู้หนังสือ (Literacy) ซึ่งหมายถึงปฏิสัมพันธ์ทางสติปัญญาที่มีความซับซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างผู้อ่านกับข้อความ และระหว่างความรู้เดิมกับข้อมูลใหม่ และการรู้หนังสือของเด็กปฐมวัยเป็นการรู้หนังสือที่อยู่ในระยะแรกเริ่ม (Emergent literacy) เป็นการเรียนรู้ของเด็กก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การมีทักษะการรู้หนังสืออย่างเป็นทางการ (Sowers, 2000: 140-141; Tompkins, 1997: 365) การจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยจึงต้องวางแผนให้ครอบคลุมทั้งเรื่องภาษาและการรู้หนังสือในระยะแรกเริ่ม โดยแผนดังกล่าวจะต้องเหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาและการรู้หนังสือของเด็ก และมีลักษณะบูรณาการ ให้เด็กได้ใช้ภาษาอย่างมีความหมายเป็นรายบุคคล

การกำหนดจุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
        การกำหนดจุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กจึงควรกำหนดให้ครอบคลุมทั้งภาครับซึ่งหมายถึงภาษาที่เด็กใช้ในการทำความเข้าใจ และภาคส่งซึ่งหมายถึงภาษาที่เด็กใช้หรือแสดงออก (Wortham, 1996: 235) ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ด้านภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยในภาครับและภาคส่ง (Morrow, 1989: 51-52) สรุปได้ดังนี้

1. จุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาภาครับ

    1.1 เด็กได้อยู่ในบรรยากาศที่มีการใช้ภาษา
    1.2 เด็กได้รับความพึงพอใจและความสนุกสนานผ่านทางภาษา
    1.3 เด็กมีโอกาสจำแนกเสียงที่ได้ยิน
    1.4 เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่พรั่งพร้อมไปด้วยการใช้คำใหม่ๆ
    1.5 เด็กมีโอกาสฟังและทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด
    1.6 เด็กมีโอกาสเรียนรู้ที่จะทำตามคำแนะนำ หรือคำสั่ง

2. จุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาภาคส่ง

    2.1 เด็กมีโอกาสใช้ภาษาอย่างอิสระ ไม่ว่าจะอยู่ในพัฒนาการขั้นใดก็ตาม โดยได้รับกำลังใจ และการยอมรับนับถือต่อความต้องการในการสื่อสารของเด็กเอง
    2.2 เด็กได้รับการสนับสนุนให้ออกเสียงอย่างถูกต้อง
    2.3 เด็กมีโอกาสเรียนรู้คำศัพท์ที่ใช้เพิ่มเติม
    2.4 เด็กได้รับการสนับสนุนให้พูดประโยคที่สมบูรณ์ตามระดับพัฒนาการ
    2.5 เด็กได้รับการส่งเสริมให้พูดโดยใช้คำหลายๆ ประเภท ทั้งคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ ใช้วลี หรือใช้ประโยค
    2.6 เด็กมีโอกาสพูดเพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ
    2.7 เด็กมีโอกาสใช้ภาษาทั้งในการแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น อาจเป็นการใช้ภาษาเพื่อการแก้ปัญหา การตั้งสมมุติฐาน การสรุปหรือการทำนายเหตุการณ์
    2.8 เด็กมีโอกาสใช้ภาษาที่สัมพันธ์กับคณิตศาสตร์และตรรกศาสตร์ เช่น ใช้ภาษาในการอธิบายขนาด ปริมาณ เปรียบเทียบ จำแนก จัดหมวดหมู่ หรือแสดงเหตุผล
การกำหนดสาระการเรียนรู้ที่ใช้สำหรับจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย        สาระการเรียนรู้ที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยซึ่งนำเสนอในที่นี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์สำคัญ และสาระที่ควรเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 (กรมวิชาการ, 2546: 35) โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

1. ประสบการณ์สำคัญด้านการใช้ภาษา เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ซึ่งสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้ภาษา ดังนี้

    1.1 การฟัง เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทักษะหลายทักษะและมีลักษณะของการฟังที่หลากหลาย มาชาโด (Machado, 1999: 187) กล่าวว่า การฟังที่เด็กควรมีประสบการณ์มี 5 ประเภท ประกอบด้วย

        (1) การฟังเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน (Appreciative Listening) ซึ่งเด็กควรมีโอกาสฟังตามวิธีนี้ทั้งจากการฟังเพลง กลอน หรือเรื่องราวต่างๆ
        (2) การฟังอย่างมีวัตถุประสงค์ (Purposeful Listening) เด็กควรมีโอกาสได้ฟัง และปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ฟัง
        (3) การฟังเพื่อจำแนกความแตกต่าง (Discriminative Listening) เด็กควรมีโอกาสฟัง และแยกแยะเสียงต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจำแนกความต่างของการเปลี่ยนแปลงของเสียง
        (4) การฟังอย่างสร้างสรรค์ (Creative Listening) เด็กควรได้รับการกระตุ้นให้เกิดจินตนาการและมีอารมณ์ร่วมกับประสบการณ์ที่ได้ฟัง ซึ่งจะทำให้เด็กมีการแสดงออกด้วยคำพูด หรือการกระทำอย่างอิสระตามธรรมชาติ
        (5) การฟังแบบวิเคราะห์ (Critical Listening) เด็กควรได้ทำความเข้าใจ ประเมิน ตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ฟัง โดยมีครูเป็นผู้ตั้งคำถามให้เด็กคิดและตอบสนอง

        หากพิจารณาประเภทของการฟังดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้เด็กได้มีประสบการณ์สำคัญด้านการฟังอย่างครอบคลุมทุกวิธี เพื่อให้เด็กเกิดความตระหนักต่อเสียงต่างๆ และนำไปสู่การเข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยินในที่สุด

    1.2 การพูด เป็นวิธีการพื้นฐานที่เด็กช่วยให้เด็กได้แสดงออกซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กได้พัฒนาการคิดดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นด้วย เด็กควรมีประสบการณ์สำคัญด้านการพูด (กรมวิชาการ, 2546: 37; Machado, 1999: 327) ดังนี้

        (1) การแสดงความคิด ความรู้สึก และความต้องการด้วยคำพูด
        (2) การพูดกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง หรือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง
        (3) การอธิบายเกี่ยวกับสิ่งของ เหตุการณ์ และความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ
        (4) การพูดอย่างสร้างสรรค์ในการเล่น หรือการแก้ปัญหา
        (5) การเชื่อมโยงการพูดกับท่าทาง หรือการกระทำต่างๆ
        (6) การมีประสบการณ์ในการรอคอยจังหวะที่เหมาะสมในการพูด

    1.3 การอ่าน เด็กปฐมวัยควรมีประสบการณ์สำคัญในการอ่านหลายรูปแบบ ผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก ทั้งการอ่านภาพจากหนังสือนิทาน อ่านเครื่องหมาย อ่านสัญลักษณ์ หรืออ่านเรื่องราวที่เด็กสนใจ

    1.4 การเขียน เด็กปฐมวัยควรมีประสบการณ์สำคัญในการเขียนหลายรูปแบบผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก ทั้งเขียนภาพ เขียนขีดเขี่ย เขียนคล้ายตัวอักษร เขียนเหมือนสัญลักษณ์ หรือเขียนชื่อตนเองหรือคำที่คุ้นเคย
2. สาระที่ควรเรียนรู้ โดยปกติเป็นเรื่องราวรอบตัวเด็กที่นำมาเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์สำคัญ ได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก อย่างไรก็ตามครูควรทำความเข้าใจสาระที่ควรเรียนรู้ตามลักษณะการใช้ภาษาที่แฝงอยู่ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย ดังนี้

    2.1 การฟัง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เสียงที่ได้ยิน การตระหนักถึงความหมายของเสียงนั้นในบริบทแวดล้อม และการตีความสิ่งที่ได้ยินโดยเชื่อมโยงกับความรู้เดิม การรวบรวมข้อมูล การจินตนาการ หรือความชื่นชอบของเด็ก ทั้งนี้ สาระที่ควรเรียนรู้เกี่ยวกับการฟังแบ่งออกเป็น 3 ด้าน (Jalongo, 1992: 67) ได้แก่

        (1) ด้านความสามารถในการได้ยินและจับใจความ ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์และภูมิหลังของเด็ก ครูจึงต้องปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นนั้นๆ 
        (2) ด้านความตั้งใจฟัง เกิดขึ้นเมื่อมีแรงจูงใจ มีเหตุผลที่ดี หรือมีประโยชน์ต่อเด็ก
        (3) ด้านนิสัยในการฟัง เป็นพฤติกรรมตอบสนองต่อสถานการณ์ในการฟัง นิสัยที่ดีในการฟังเกิดจากการที่เด็กมีความสนใจ ได้รับข้อมูลหรือสารที่ชัดเจน และการได้ตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยิน 

        ดังนั้น สิ่งที่ครูควรตระหนักและวางแผนในการกำหนดสาระที่เด็กควรเรียนรู้ด้านการฟัง คือ การช่วยให้เด็กมีความไวต่อการใช้บริบท หรือสิ่งชี้แนะเพื่อการตีความ และการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินกับประสบการณ์ของเด็ก โดยที่ครูเป็นผู้ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ต่างๆ อย่างเพียงพอ เหมาะสมกับวัย ความแตกต่างระหว่างบุคคล และความสนใจของเด็ก เพื่อเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้เด็กมีความตั้งใจในการฟัง และพัฒนาไปสู่การมีนิสัยที่ดีในการฟังในที่สุด

2.2 การพูด เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับผู้อื่น สาระที่เด็กควรเรียนรู้เพื่อให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีความหมาย และตรงตามความต้องการของเด็ก ได้แก่  

    (1) คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก หรือคำศัพท์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เด็กสนใจ
    (2) การเรียงลำดับคำต่างๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ 
    (3) การใช้คำพูดที่เป็นที่ยอมรับ และ/หรือคำพูดที่สุภาพ 
    (4) การใช้คำพูดให้เหมาะสมกับบุคคลที่ต้องการสื่อสารด้วย
    (5) ความมั่นใจในการพูดกับผู้อื่น
    (6) การยอมรับความคิดที่ผู้อื่นแสดงออกด้วยการพูด
    (7) ความสนใจที่มีต่อคำใหม่ๆ สาระเหล่านี้ช่วยให้เด็กสามารถมากขึ้น

2.3 การอ่าน เป็นกระบวนการที่เด็กใช้ในการถอดรหัสสัญลักษณ์ และทำความเข้าใจความหมายที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์เหล่านั้น องค์ประกอบของการอ่านที่เด็กควรเรียนรู้ (สุภัทรา คงเรือง, 2539: 19 - 20) ได้แก่

    (1) ความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ ได้แก่ การรู้ทิศทางในการถือหนังสือ การรู้ส่วนประกอบของหนังสือ และ การรู้ทิศทางในการอ่าน
    (2) ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษร ได้แก่ การรู้ว่าการอ่านกับการเขียนสัมพันธ์กัน การรู้จักคำคุ้นตา การรู้ว่าคำคืออะไร การรู้จักตัวอักษรตัวแรก และตัวสุดท้ายของคำ และ การรู้รูปร่างและทิศทางของตัวอักษร
    (3) ความรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายวรรคตอน ได้แก่ การรู้ความหมายของเครื่องหมายคำพูด เครื่องหมายคำถาม และเครื่องหมายอัศเจรีย์
    (4) ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิ่งชี้แนะในการคาดคะเนและตรวจสอบการคาดคะเน ได้แก่ การคาดคะเน และตรวจสอบการคาดคะเนโดยอาศัยภาพ ความหมายของคำ โครงสร้างของประโยค และ/หรือ พยัญชนะต้นของคำ

2.4 การเขียน เป็นกระบวนการแสดงออกถึงความรู้สึก ความต้องการ และความคิดผ่านทางเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ องค์ประกอบของการเขียนที่เด็กควรเรียนรู้ (ภาวิณี แสนทวีสุข, 2538: 9) ได้แก่
    (1) การสร้างสัญลักษณ์ภาษาเขียน หมายถึง การสร้างภาพ และ/หรือข้อความ ด้วยการวาด การลอก การจำมาเขียนทั้งที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์และถูกต้องสมบูรณ์ การคิดพยัญชนะขึ้นเสียงของคำ ตลอดจนการคิดสะกดคำ
    (2) ทิศทางการเขียน หมายถึง การจัดเรียงตำแหน่งของสิ่งที่เขียน ตั้งแต่การจัดเรียงตามแนวตั้งและแนวนอนอย่างสะเปะสะปะ ไปจนกระทั่งเด็กสามารถเขียนจากซ้ายไปขวา และบนลงล่างอย่างสม่ำเสมอ
    (3) วิธีถ่ายทอดความหมายของสัญลักษณ์ภาษาเขียน หมายถึง การแสดงความหมายของภาพ และ/หรือข้อความที่ตนเขียนให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยการบอกให้ครูช่วยเขียนให้ เขียนเองบางส่วน ตลอดจนเขียนเองทั้งหมด
    (4) ความซับซ้อนของความหมาย หมายถึง ความชัดเจน ความละเอียดลออ และครอบคลุมความหมายที่ต้องการสื่อโดยใช้หน่วยไวยากรณ์ที่เป็นตัวอักษร คำ หรือประโยคง่ายๆ

        ทั้งนี้ การนำเสนอสาระการเรียนรู้ด้านภาษา ทั้งประสบการณ์สำคัญ และสาระที่ควรเรียนรู้โดยแยกตามทักษะการใช้ภาษานั้น เพื่อให้ครูมีความกระจ่างชัดต่อทักษะทางภาษาในแต่ละทักษะ ไม่ได้หมายถึงการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กโดยแยกแต่ละทักษะออกจากกัน การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยด้านภาษาต้องเป็นการบูรณาการทุกทักษะเข้าด้วยกัน โดยจัดกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กได้ใช้ภาษาเพื่อการสื่อความหมายในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
        การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กด้านภาษาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมาย และเป็นองค์รวม เนื่องจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการในการเรียนภาษาของเด็ก การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็กต้อง สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กสำรวจ ปฏิบัติจริง เป็นผู้กระทำด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กเป็นอิสระได้สังเกตและตั้งสมมุติฐาน ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบุคคลรอบข้าง เป็นสิ่งแวดล้อมที่เน้นความหมายมากกว่ารูปแบบ ควรยอมรับการสื่อสารของเด็กในรูปแบบต่างๆโดยคำนึงถึงความหมายที่เด็กต้องการสื่อมากกว่าความถูกต้องทางไวยากรณ์ (หรรษา นิลวิเชียร, 2535: 211-212) 

        ห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยควรมีวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการรู้หนังสือที่มีคุณภาพ เด็กที่ได้อยู่ในห้องเรียนที่มีวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีคุณภาพมีแนวโน้มที่จะรักการอ่าน และการอ่านวรรณกรรมที่ดีจะกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในอนาคตของเด็ก อีกทั้งยังเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เด็กมีความต้องการอ่านบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้วัสดุอุปกรณ์ที่ควรมีในห้องเรียนได้แก่วรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีความหลากหลายในด้านของผู้แต่ง และผู้วาดภาพประกอบ มีระดับความยากแตกต่างกัน มีวัสดุที่ใช้สำหรับการอ้างอิง ประกอบด้วยพจนานุกรม แผนที่ บัญชีคำศัพท์ และสารานุกรม นิตยสารสำหรับเด็ก นอกจากนี้ครูควรจัดให้มีสื่อสำหรับการเขียนทั้งกระดาษที่ไม่มีเส้น และมีเส้นหลายสี หลายแบบ หลายขนาด กระดาษบันทึกเล็กๆ ซองจดหมาย ดินสอ ปากกา สีชนิดต่างๆ เครื่องเหลาดินสอ ตรายางและแท่นประทับ นอกจากนี้ยังอาจจัดสื่อสำหรับการเย็บกระดาษ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเย็บกระดาษ ที่เจาะกระดาษ เชือก กาว เทปใส กระดาษกาว คลิปหนีบกระดาษ กรรไกร เป็นต้น โดยควรจัดวางให้เด็กสามารถเลือกหยิบใช้และนำมาเก็บคืนได้ด้วยตนเองด้วย
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
        การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยควรจัดให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (DAP) ไม่ควรเป็นการสอนทักษะทางภาษาอย่างเป็นทางการ แต่ควรเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความท้าทายให้เด็กเกิดความต้องการที่จะร่วมกิจกรรม และสามารถประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมด้วยตนเอง หรือมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการทางภาษาของเด็ก และช่วยให้เด็กก้าวไปสู่พัฒนาการทางภาษาในขั้นต่อไป ครูควรจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างกันของเด็ก ตัวอย่างการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย มีดังต่อไปนี้

1. การสนทนาข่าวและเหตุการณ์ (Morning Message) 
        เป็นกิจกรรมที่เด็กและครูได้สนทนาร่วมกันในช่วงเริ่มต้นกิจกรรมของแต่ละวัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และได้เปลี่ยนกันเป็นผู้พูดและผู้ฟัง ครูควรส่งเสริมให้เด็กมีมารยาทที่ดีในการพูดและการฟัง หากเด็กคนใดไม่ต้องการพูดก็ไม่ควรถูกบังคับให้พูด เพื่อให้เด็กที่ไม่มั่นใจในตนเองรู้สึกสบายใจที่จะมีส่วนร่วมในการฟังการสนทนา
หัวข้อที่ใช้สนทนาอาจเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และเหตุการณ์พิเศษของแต่ละวัน เช่น วันนี้เราจะทำอะไรกันบ้าง จะมีใครมาที่ห้องเราบ้าง ฯลฯ เป็นข่าวสารจากเด็ก ซึ่งเด็กอาจเล่าเรื่องส่วนตัวของตนเอง หรือเล่าเกี่ยวกับสิ่งของที่ตนนำมา (Show & Tell) เด็กที่ได้เล่าเรื่องจะรู้สึกเสมือนว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนกำลังพูดอยู่ นับว่าเป็นการช่วยขยายประสบการณ์ให้แก่เด็กคนอื่นๆ ด้วย และเมื่อเด็กๆรู้ว่าแต่ละวันเขาสามารถเล่าเรื่องเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนได้ เด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมเรื่องที่จะพูดไว้ล่วงหน้า หรือเป็นหัวข้อที่เด็กสนใจ ซึ่งเด็กๆจะพยายามหาข้อมูลมาให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ เด็กๆ อาจหาข้อมูลด้วยการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ สังเกตหรือทดลองด้วยตนเอง ฯลฯ
        การสนทนาเป็นวิธีการสำคัญและเป็นวิธีการหลักที่ครูจำเป็นต้องใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย เพราะในขณะที่เด็กสนทนากับครู เด็กจะได้ยินแบบอย่างของการใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อเด็กสนทนากันเอง เด็กจะมีโอกาสฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ได้ทำความเข้าใจการพูดของเพื่อนจากสิ่งชี้แนะ (McGee and Richgels, 2000: 160) การที่เด็กได้เล่าเรื่องให้เพื่อนฟังทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจเรื่องได้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น เด็กได้ใช้ภาษาบ่อยขึ้น เด็กจะรู้จักใช้คำถามถามเพื่อน รู้จักการหาข้อมูลไว้ตอบคำถาม เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และยังช่วยพัฒนาการยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นพูดอีกด้วย ระหว่างการสนทนา ครูควรมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในการสนทนา ถ้ามีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คนอื่นอยู่ด้วยก็ควรให้บุคคลเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา ไม่ควรมีบรรยากาศของการตัดสินว่าสิ่งที่เด็กพูดถูกหรือผิดเพื่อส่งเสริมให้เด็กต้องการมีส่วนร่วมในการสนทนาและติดตามหัวข้อที่สนทนาอย่างสม่ำเสมอ

2. การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง (Reading Aloud) 
        เป็นกิจกรรมที่ครูเลือกวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ดีมาอ่านให้เด็กฟัง ครูควรจัดให้มีช่วงเวลาเฉพาะสำหรับการอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง (Story Time) กิจกรรมนี้อาจจะจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยหรือจัดสำหรับเด็กกลุ่มใหญ่ก็ได้ โดยครูเลือกหนังสือที่เด็กสนใจมาอ่านให้เด็กฟัง ครูควรอ่านชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบ อ่านเนื้อเรื่องพร้อมกับชี้ข้อความขณะที่อ่าน เปิดโอกาสให้เด็กได้ถามคำถาม หรือสนทนาเกี่ยวกับตัวละคร หรือเรื่องราวในหนังสือ ครูอาจเชิญชวนให้เด็กคาดเดาเหตุการณ์ในเรื่องบ้าง และควรเตรียมข้อมูลที่ช่วยให้เด็กเข้าใจคำยากที่ปรากฎในเรื่อง ถามคำถามที่กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากเรื่องที่อ่านให้เด็กเลือกทำตามความสนใจ เช่น เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ปรากฎในเรื่องในเด็กได้เล่นสมมุติ เตรียมภาพให้เด็กได้เรียงลำดับเรื่องราว เป็นต้น
        ช่วงเวลาที่ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังนี้ควรเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และมีความสุข ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก ครูควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวันเพื่อช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน และช่วยให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ การใช้สิ่งชี้แนะในการคาดคะเนและตรวจสอบการคาดคะเน 

3. การให้เด็กเล่าเรื่องซ้ำ (Story Retelling) 
        เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจับใจความ เด็กปฐมวัยเรียนรู้การจับใจความด้วยการฟังนิทาน เพราะนิทานมีโครงสร้าง ลีลาในการเขียน และเรื่องราวที่เด็กคุ้นเคย เอื้อให้เด็กสามารถใช้ความรู้เดิมในการจับใจความจากเรื่องที่ฟังและดูภาพประกอบ เมื่อครูเล่านิทานให้เด็กฟังแล้ว ครูต้องถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดจับใจความสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแบบอย่างของการคาดคะเน แปลความ ตีความ และตรวจสอบความเข้าใจ แล้วเก็บประเด็นสำคัญในการจับใจความ จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้เด็กเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟัง โดยการเล่าเรื่องอาจเป็นกิจกรรมระหว่างครูกับเด็ก หรือเป็นกิจกรรมระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน เพื่อให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนและฝึกปฏิบัติในสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้ว
        เทคนิคในการสอนเล่านิทานแบบเล่าเรื่องซ้ำ ได้แก่ ก่อนเล่านิทานครูถามคำถามให้เด็กคาดคะเน และเชื่อมโยงประสบการณ์เดิม ขณะเล่านิทาน ครูถามคำถามให้เด็กตีความ ให้คาดคะเน ให้แปลความ และตรวจสอบความเข้าใจ หลังเล่านิทานจบควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทบทวนเรื่องราวที่ได้ฟัง เช่น การทำแผนผังนิทาน หนังสือนิทาน บอร์ดนิทาน กล่องนิทาน ฉากนิทาน แผ่นพับนิทาน ภาพแขวนต่อเนื่อง การเชิดหุ่น ภาพตัดต่อนิทาน บทบาทสมมติ และกะบะนิทาน ทั้งนี้ ครูควรเสริมแรงอย่างเหมาะสมขณะเด็กเล่าเรื่องซ้ำให้ผู้อื่นฟังด้วย (อลิสา เพ็ชรรัตน์, 2539)

4. การอ่านร่วมกัน (Shared Reading) 
        เป็นกิจกรรมที่มีเครื่องมือหลัก หรือสื่อพื้นฐานคือหนังสือเล่มใหญ่ ซึ่งขนาดของตัวหนังสือใหญ่พอที่เด็กที่นั่งอยู่ข้างหลังมองเห็นคำหรือตัวหนังสือในแต่ละหน้า หนังสือเล่มใหญ่ที่เลือกมาใช้ควรเป็นวรรณกรรมเด็กที่เป็นที่คุ้นเคย และเป็นประเภททายได้
        ขั้นตอนของการอ่านร่วมกันเริ่มตั้งแต่การอภิปรายถึงเนื้อเรื่องของหนังสือที่จะอ่าน หรือนำสิ่งของที่สัมพันธ์กับเรื่องมานำเสนอ เพื่อช่วยให้เด็กเริ่มสนใจหนังสือที่จะอ่านและช่วยให้เด็กมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะอ่านด้วย อ่านหนังสือให้เด็กฟังทั้งเรื่องเพื่อให้เด็กสนใจ ชี้คำขณะที่อ่านเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับตัวหนังสือ คำ หรือข้อความเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการอ่าน ให้เด็กสนุกกับส่วนที่ทายล่วงหน้าได้ 
        เมื่ออ่านร่วมกับเด็กหลายครั้งแล้วครูควรจัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ส่วนย่อยของข้อความที่เป็นประโยค วลี หรือคำ โดยการทำหน้ากากปิดตัวหนังสือเพื่อให้เด็กเห็นคำหรือวลีที่ต้องการเน้นให้ชัดขึ้นและให้เด็กที่เป็นอาสาสมัครอ่าน นอกจากทำหน้ากากแล้วครูอาจใช้กิจกรรมการเติมคำที่เจาะจงที่หายไป (Cloze) กิจกรรมนี้จะชวยให้เด็กเข้าใจได้ว่าข้อความหรือคำไม่ใช่รูปภาพ และเรียนรู้ว่าตัวหนังสือจะมีทิศทาง ซึ่งการเติมคำที่หายไปนี้อาจเป็นประเภททางเสียงและประเภททางตา หรือครูอาจใช้กิจกรรมการเน้นที่คำสำคัญด้วยการทำบัตรคำสำคัญไว้ให้เด็กนำไปเทียบกับคำในหนังสือตามความสนใจ หรืออาจทำบัตรภาพจากในหนังสือให้เด็กจับคู่ภาพกับเนื้อความในหนังสือก็ได้ (จูดิธ พอลลาด สลอทเธอร์, 2543)
        หลังจากที่ได้อ่านร่วมกันแล้ว ครูควรจัดกิจกรรมการสื่อภาษาและกิจกรรมการเล่นเกมภาษา เพื่อให้เด็กได้สื่อความหมายสิ่งที่ได้อ่าน กิจกรรมการสื่อภาษา ได้แก่ การทำหนังสือนิทาน การแสดงละคร การเล่าเรื่องซ้ำ การทำงานศิลปะ การทำภาพผนัง ฯลฯ โดยใช้หนังสือเล่มใหญ่เป็นสื่อ ส่วนกิจกรรมการเล่นเกมภาษา ได้แก่ เกมหาคำที่เหมือนกันในนิทาน เกมหาชื่อตัวละคร เกมพูดตามเครื่องหมายวรรคตอน เกมลำดับภาพและข้อความจากเรื่อง เป็นต้น (สุภัทรา คงเรือง, 2539)

5. การสอนอ่านแบบชี้แนะ (Guided Reading) 
        เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้พื้นฐาน ในด้านการอ่านอย่างเหมาะสมกับระดับความสามารถของเด็ก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับเด็กเป็นรายบุคคลหรือทำงานกับเด็กเป็นกลุ่มย่อย 4 - 8 คน (Stewig and Simpson, 1995) 
        ครูควรเลือกหนังสือที่มีระดับความยากเหมาะสมกับกลุ่มเด็ก โดยพิจารณาจากความซับซ้อนของเรื่องและภาษาที่ใช้ในนิทาน ลักษณะของประโยคที่เล่าเรื่อง และภาพประกอบ ที่ช่วยให้เด็กคาดเดาเรื่องและคำได้มาใช้ในการอ่านร่วมกับเด็ก กิจกรรมนี้มีเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มเด็กและครูต้องมีหนังสือที่ครูเลือกไว้ทุกคน เมื่อครูประเมินว่าเด็กต้องได้รับการเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเรื่องใด ครูจะตั้งวัตถุประสงค์ในเรื่องนั้น เพื่อนำมาสอดแทรกในการอ่านร่วมกับกลุ่มเด็ก 
        ความรู้พื้นฐานในการอ่านของเด็ก เช่น ส่วนประกอบของหนังสือ การใช้หนังสือ การคาดเดาเรื่องราวจากภาพหรือโครงสร้างของประโยค การเชื่อมโยงเรื่องราวกับประสบการณ์เดิมของเด็ก การรู้จักคำใหม่ การเล่นกับเสียงของตัวอักษรหรือพยัญชนะต้นของคำ การคาดเดาคำใหม่จากภาพ และตัวอักษร ฯลฯ (Neuman and Bredekamp, 2000) ทั้งนี้ครูต้องกำหนดช่วงเวลาเฉพาะในการสอนอ่านแบบชี้แนะ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์เด็กควรมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง สิ่งสำคัญในการสอนอ่านแบบชี้แนะคือ การที่ครูสอนทักษะย่อย ๆ นี้จะต้องไม่ทำมากเกินไปจนเสียอรรถรสของเรื่องที่อ่านด้วยกัน
6. การอ่านอิสระ (Independent Reading) 
        เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเลือกอ่านตามความสนใจ สื่อที่ใช้ในการอ่านอาจเป็นหนังสือประเภทต่างๆ คำคล้องจอง เนื้อเพลง หรือสื่อต่างๆ เช่น ป้ายข้อตกลงต่างๆ ในห้องเรียน ป้ายประกาศเตือนความจำ คำแนะนำในการใช้และเก็บของเล่น คำขวัญ คำคล้องจองประจำมุม ป้ายสำรวจชื่อเด็กที่มาโรงเรียน ป้ายแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ป้ายอวยพรวันเกิด รายการอาหารและของว่างประจำวัน ปฏิทิน รายงานอากาศประจำวัน และป้ายอวยพรวันเกิดเพื่อน เป็นต้น
        ครูควรจัดให้เด็กมีเวลาเลือกอ่านอย่างอิสระตามความสนใจ และอาจจัดทำบันทึกการอ่านของเด็ก โดยการให้เด็กเล่าหรือพูดคุยเรื่องที่อ่านให้ครูหรือเพื่อนฟัง ครูช่วยบันทึกสิ่งที่เด็กอ่าน หรืออาจให้เด็กจดชื่อหนังสือที่ตนอ่านลงในสมุดบันทึก

7. การอ่านตามลำพัง (Sustained Silent Reading - SSR) 
        วิธีการส่งเสริมการอ่านที่ดี คือการให้เด็กมีโอกาสในการอ่านจริงๆ ครูควรจัดให้มีช่วงเวลาเฉพาะที่เด็กทุกคนรวมทั้งครูเลือกหนังสือมาอ่านตามลำพัง ช่วงเวลานี้เด็กจะได้เลือกหนังสือที่ตนชื่นชอบหรือสนใจมาอ่าน แม้ว่าชื่อของกิจกรรมจะเป็นการอ่านเงียบๆ โดยไม่รบกวนผู้อื่น แต่ในทางปฏิบัติเด็กอาจพูดออกเสียงพึมพำระหว่างการอ่านบ้าง ครูไม่ควรบังคับให้ทุกคนเงียบสนิทระหว่างการอ่าน กิจกรรมนี้อาจใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีต่อวัน ควรเป็นเวลาที่เด็กมีอิสระในการเลือกอ่านโดยครูไม่ต้องมอบหมายงานต่อเนื่องจากการอ่านให้เด็กทำ (Stewig and Simpson, 1995: 216)

8. การเขียนร่วมกัน (Shared Writing) 
        เป็นกิจกรรมที่ครูเขียนร่วมกับเด็กโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กใช้กระบวนการเขียนตั้งแต่การการตัดสินใจแสดงความคิดที่ประมวลไว้ออกมาเป็นภาษาเขียนให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยการสร้างตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ สื่อความหมายที่ครอบคลุมความหมายที่ต้องการสื่อ โดยจัดเรียงตำแหน่งสิ่งที่เขียนจากซ้ายไปขวา และบนลงล่าง การเขียนร่วมกันทำให้เด็กรู้ว่าความคิดสามารถบันทึกไว้ด้วยข้อความได้ และทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเขียน
        ในการเขียนร่วมกัน ครูอาจเริ่มต้นด้วยการเชิญชวนให้เด็กสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กริเริ่มและสัมพันธ์กับประสบการณ์จริงของเด็ก ครูแสดงแบบอย่างของการตัดสินใจถ่ายทอดความคิดเป็นข้อความหรือสัญลักษณ์โดยการกระตุ้นให้เด็กช่วยกันบอกสิ่งที่ต้องการสื่อความหมาย แล้วให้เด็กช่วยกันสรุปข้อความที่เด็กช่วยกันบอกให้กระทัดรัด เหมาะที่จะเขียน เพื่อให้เด็กจำข้อความนั้นได้ก่อนลงมือเขียน ให้ครูเป็นคนเขียนข้อความเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวิจารณ์เด็กที่เขียนผิดต่อหน้าเพื่อนและครู จนเด็กที่เขียนเสียกำลังใจ และไม่กล้าเขียนอีก ระหว่างที่เขียนควรหมั่นถามให้เด็กติดตามบอกให้ครูเขียน ควรเขียนให้เด็กเห็นลีลามือที่ถูกต้อง เขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่พอที่เด็กจะเห็นทิศทางการเขียนที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ลายมือที่ครูเขียนมีส่วนสำคัญในการเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก ครูจึงควรระวังเรื่องลายมือและลีลามือที่ถูกต้องสวยงาม เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงอ่านทวนให้เด็กฟัง อาจให้เด็กอ่านทวนอีกครั้ง และให้เด็กวาดภาพประกอบ (ภาวิณี แสนทวีสุข, 2538)
        ตัวอย่างกิจกรรมการเขียนร่วมกัน ได้แก่ กิจกรรมสำรวจเด็กมาโรงเรียน ซึ่งให้เด็กได้ลงชื่อมาโรงเรียนตามความสมัครใจ จากนั้นเมื่อถึงเวลาสำรวจรายชื่อเด็กและครูสามารถนำใบลงชื่อนี้มาใช้เขียนร่วมกันว่ามีเด็กมาโรงเรียนจำนวนเท่าไร หรือใครไม่มาโรงเรียนบ้าง กิจกรรมประกาศข่าว โดยการเปิดโอกาสให้เด็กหรือครูแจ้งข่าวสารที่ต้องการให้ทุกคนรับรู้ เมื่อครูเขียนตามที่เด็กบอกแล้วสามารถนำข้อความดังกล่าวมาติดประกาศ เป็นต้น 

9. การเขียนอิสระ (Independent Writing) 
        เป็นกิจกรรมที่ที่เด็กริเริ่มเนื้อหาที่ต้องการสื่อความหมายอย่างอิสระในช่วงเวลาของกิจกรรมสร้างสรรค์และเล่นตามมุม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเขียนเพื่อสื่อความหมายตามความสนใจและความสมัครใจ เด็กเป็นผู้เลือกเนื้อหาในการทำกิจกรรม เช่น การเขียนถ่ายทอดความคิดที่ผลงานศิลปะและผลงานการต่อบล็อก การบันทึกชื่อนิทานที่อ่าน การเขียนเพื่อทำอุปกรณ์ประกอบการเล่นสมมุติ เช่น ใบสั่งยา เมนู ฯลฯ การบันทึกการสังเกตในมุมวิทยาศาสตร์
        ครูอาจเตรียมกิจกรรมให้เด็กได้เขียนอย่างมีความหมายโดยสัมพันธ์กับหน่วยการเรียน โดยใช้เนื้อหาจากหน่วยการเรียนมาบูรณาการกับการเขียนอิสระตามมุมประสบการณ์ให้เด็กได้เลือกทำ เช่น การพิมพ์ภาพมือและเท้าที่มุมศิลปะในหน่วยตัวเรา การทำเมนูอาหารที่มุมร้านอาหารในหน่วยอาหารดีมีประโยชน์ เป็นต้น (ภาวิณี แสนทวีสุข, 2538)
การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย
        การประเมินพัฒนาการทางภาษาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านภาษา เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดประสบการณ์ แนวทางการประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยตามสภาพจริง (Tompkins, 1997: 440) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ใช้เครื่องมือการประเมินที่เหมาะสมกับธรรมชาติของการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ครูต้องศึกษาพัฒนาการด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนของเด็ก แล้วนำหัวข้อเหล่านี้มาสร้างเป็นตัวบ่งชี้(Indicators) ในเครื่องมือการประเมิน กล่าวคือตัวบ่งชี้ในเครื่องมือการประเมินพัฒนาการทางภาษาต้องสอดคล้องกับพัฒนาการทางภาษาและธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของเด็กนั่นเอง

2. ใช้เครื่องมือในการประเมินที่หลากหลาย การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย ควรเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมินที่เหมาะสม คือ การสังเกตหรือการสนทนากับเด็ก แล้วบันทึกอย่างเป็นระบบ วิธีการบันทึกอาจใช้วิธีการสำรวจรายการ การจดบันทึกพฤติกรรม หรือมาตราส่วนประเมินค่า อาจใช้วิธีการบันทึกวีดิทัศน์ บันทึกเสียง เก็บตัวอย่างงาน หรือใช้พอร์ทโฟลิโอ (Portfolio) ทั้งนี้ ครูควรเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือในแต่ละประเภท และเลือกใช้เครื่องการประเมินที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถสะท้อนการเรียนรู้ภาษาของเด็กอย่างแท้จริง(Ratcliff, 2001: 68)

3. บูรณาการการสอนกับการประเมิน การประเมินถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์ การประเมินอย่างต่อเนื่องทำให้ครูทราบพัฒนาการทางภาษาของเด็ก เข้าใจเด็ก และรู้ว่าจะพัฒนาเด็กอย่างไรต่อไป งานที่สำคัญของครูในส่วนนี้คือ ครูต้องทบทวนว่าจะประเมินพัฒนาการทางภาษาในตัวบ่งชี้ใด โดยเลือกใช้เครื่องมือประเมินชนิดใดในช่วงเวลาใดในกิจกรรมประจำวันที่จัดขึ้น การวางแผนการประเมินที่เหมาะสมและยืดหยุ่นได้จะช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์โดยทำการประเมินควบคู่กันไปได้อย่างราบรื่น

4. เน้นที่ความก้าวหน้าของเด็ก ในการประเมินพัฒนาการทางภาษาครูควรบันทึกสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ เพื่อเป็นการประเมินความก้าวหน้าของเด็ก ไม่ควรมุ่งสังเกตสิ่งที่เด็กยังไม่สามารถทำได้ การทราบสิ่งที่เด็กสามารถทำได้จะช่วยให้ครูสามารถแนะนำ สนับสนุนให้เด็กก้าวไปสู่พัฒนาการทางภาษาในขั้นที่สูงขึ้นได้ การเน้นที่ความก้าวหน้าของเด็กนี้ถือเป็นการวินัยฉัยและช่วยแก้ปัญหาให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี

5. ให้ความสนใจทั้งกระบวนการและผลผลิต ขณะที่เด็กร่วมกิจกรรมทางภาษาครูควรให้ความสนใจกับกระบวนการในการใช้ภาษาของเด็ก เช่น ขณะที่เด็กกำลังลงชื่อมาโรงเรียน เมื่อครูสังเกตกระบวนการทำงานของเด็ก จะพบว่าเด็กบางคนใช้วิธีคัดลอกชื่อของตนโดยมองจากชื่อที่ปักที่เสื้อ ทำให้ผลงานการเขียนมีลักษณะกลับหัว บางคนอาจเขียนได้อย่างคล่องแคล่วจากความจำของตนเองโดยที่ผลผลิตมีลักษณะใกล้เคียงกับคนที่เขียนโดยการคัดลอกจากแบบที่ครูเตรียมไว้ หากไม่สังเกตกระบวนการย่อมทำให้ครูไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามครูควรให้ความสนใจและควรตรวจสอบทั้งกระบวนการและผลผลิตด้านการใช้ภาษาควบคู่กันไป

6. ประเมินจากบริบทที่หลากหลาย ครูจำเป็นต้องประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กจากบริบทที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ตรงตามสภาพจริงของเด็ก การด่วนสรุปจากบริบทใดบริบทหนึ่งอาจทำให้ไม่ได้ผลการประเมินที่แท้จริง เนื่องจากเด็กอาจจะทำกิจกรรมในบริบทหนึ่งได้ดีกว่าอีกบริบทก็ได้

7. ประเมินเด็กเป็นรายบุคคล การประเมินพัฒนาการทางภาษา ครูต้องเฝ้าสังเกตเด็กแต่ละคน เพื่อให้รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล การประเมินเป็นรายบุคคลนอกจากจะทำให้ครูทราบความก้าวหน้าทางภาษาของเด็กแล้ว ยังช่วยให้ครูทราบความสนใจ ทัศนคติ ความคิด ฯลฯ เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

8. ให้เด็กมีโอกาสประเมินตนเอง เด็กควรได้รับการกระตุ้นให้คิดไตร่ตรองเพื่อประเมินความก้าวหน้าของตนเอง การที่เด็กมีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าของตนเอง จะช่วยให้เด็กภูมิใจ และเกิดความต้องการที่จะพัฒนาตนเองต่อไป โดยครูอาจนำพอร์ทโฟลิโอของเด็กมาใช้ในการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง

การจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง
        "ภาษาถิ่น" เป็นภาษาย่อย (Variety of Speech) ที่พูดในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง และมีความแตกต่างทางด้านเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์จากภาษาย่อยที่พูดในบริเวณอื่น (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2543: 2) ภาษาถิ่นตระกูลไทที่ใช้พูดกันโดยทั่วไปในประเทศไทยแบ่งออกเป็นภาษาถิ่นสำคัญ 4 ถิ่น ได้แก่ 1) ภาษาถิ่นไทยกลาง ประกอบด้วยภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ ซึ่งจัดว่าเป็นภาษาไทยมาตรฐานที่ใช้ในทางราชการ ภาษาไทยถิ่นตะวันตก ภาษาไทยถิ่นตะวันออก ภาษาไทยถิ่นสุโขทัย และภาษาไทยถิ่นโคราช 2) ภาษาไทยถิ่นใต้ 3) ภาษาไทยถิ่นอีสาน 4) ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ภาษาไทยดำ ภาษาไทยพวน ภาษาผู้ไทย ภาษานครไทย ภาษาตากใบ ฯลฯ (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2543: 27-29) ซึ่งแต่ละภาษาถิ่นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการออกเสียง ระบบเสียง ความหมาย และไวยากรณ์
        เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ภาษาถิ่น จะเรียนรู้ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่งหรือเรียกว่าภาษาแม่ แต่เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน ต้องอยู่ในบริบทของการใช้ภาษาไทยกลางซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ภาษาไทยกลางจึงเป็นภาษาที่สองที่เด็กต้องเรียนรู้ เด็กในกลุ่มดังกล่าวจึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องช่องว่างในการสื่อสารระหว่างเด็กที่ยังใช้ภาษาไทยกลางไม่ได้ กับครูหรือพี่เลี้ยงซึ่งใช้ภาษาไทยกลาง (ศิริมาศ แก้วเจริญวงศ์, 2541)
        ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งของการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และพูดภาษาไทยกลางเป็นภาษาที่สอง คือ การที่ผู้สอนให้ความสำคัญเฉพาะภาษาไทยกลางเพียงภาษาเดียว ทำให้ภาษาถิ่นของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบควบคู่กันไป ภาวะเช่นนี้ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการได้เรียนรู้สองภาษาไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กเกิดความสับสนต่อคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
        ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กสองภาษา ครูควรทำความเข้าใจว่าการเรียนรู้ภาษาที่หนึ่งและการเรียนรู้ภาษาที่สองมีความแตกต่างกัน การทำความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การจัดประสบการณ์ทางภาษาอย่างเหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งนี้ ครูที่จัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และพูดภาษาไทยกลางเป็นภาษาที่สอง ควรเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาถิ่นและภาษาไทยกลางเป็นอย่างดี เป็นครูที่เข้าใจสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับบุคคลในชุมชนซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนการสอนที่สำคัญ (อรวรรณ วงค์คำชู, 2542) โดยมีแนวทางในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กดังต่อไปนี้

1. ครูควรให้ความสำคัญกับภาษาที่หนึ่งของเด็กโดยยอมรับการใช้ภาษาของเด็ก ไม่ตำหนิ หรือบังคับให้เด็กใช้ภาษาที่ไม่ถนัด เนื่องจากพัฒนาการทางภาษาที่หนึ่งและภาษาที่สองมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหากได้รับการส่งเสริมและให้คุณค่ากับทั้งสองภาษาอย่างเท่าเทียมกัน

2. การใช้ภาษาในการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กกับครูในระยะแรก ควรใช้ภาษาถิ่นซึ่งเป็นภาษาที่เด็กคุ้นเคยเป็นหลัก และใช้ภาษาไทยกลางในระยะต่อมา โดยให้เด็กมีโอกาสเลือกใช้ภาษาตามความต้องการ โดยครูควรตระหนักว่าแม้จะมีการสอนทั้งสองภาษาโดยให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันก็จริง แต่เด็กอาจยังไม่สามารถออกเสียงภาษาไทยกลางได้ทุกเสียงอย่างชัดเจนตามหลักการออกเสียงภาษาไทยกลาง

3. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาที่มีความหลากหลายเอื้อต่อความต้องการของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้การใช้ภาษาถิ่น และภาษาไทยกลางจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาด้วยตนเองตามสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และสถานการณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ครูและเด็กเรียนรู้และพัฒนาการใช้ภาษาของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ได้แก่ การร้องเพลง ท่องกลอน หรือคำคล้องจองด้วยภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง การเล่านิทานปากเปล่า หรือเล่านิทานประกอบอุปกรณ์ด้วยภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง การถามตอบ หรือพูดคุยกับเด็กด้วยภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง การให้เด็กได้สนทนากับเจ้าของภาษาทั้งผู้ที่พูดภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง ฯลฯ

4. ประสานความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชน ใช้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาทั้งภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลางเป็นสื่อในการสอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์ตรงในชีวิตจริง

ในกรณีที่ครูไม่สามารถพูดภาษาถิ่นที่เด็กพูดได้ มีแนวทางในการปฏิบัติตนของครู (Hendrick, 1996: 462-463) ดังนี้

1. ครูต้องพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าบางครั้งเด็กจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ครูพูด
2. รอคอย ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เด็กลองพูดภาษาที่สอง 
3. จับคู่เด็กที่พูดภาษาถิ่นเหมือนกัน เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจว่ามีคนที่เหมือนตนเอง
4. เมื่อพูดกับเด็กให้ใช้ระดับเสียงตามธรรมชาติ ไม่ควรเน้นเสียง หรือออกเสียงดังเกินไป เพราะจะทำให้เด็กกลัว หรือรู้สึกว่าครูกำลังโกรธ
5. หากเด็กใช้ชื่อที่เป็นภาษาถิ่น ให้ครูหัดออกเสียงเรียกชื่อของเด็กโดยใช้ภาษาถิ่นนั้น แทนการเรียกชื่อใหม่ที่เป็นภาษาที่สองที่ครูถนัด
6. ครูอาจพยายามใช้คำบางคำที่เป็นภาษาที่เด็กใช้เพื่อสื่อสารกับเด็ก
7. ใช้ภาษาท่าทาง ยิ้ม มองเด็กด้วยท่าทีที่ให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้เด็กรับรู้ถึงความเป็นมิตรของครู
8. เมื่อพูดแล้วเด็กไม่เข้าใจ ครูอาจหยิบวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เด็กดูเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น
9. เชื่อมโยงภาษากับวัตถุ หรือประสบการณ์จริง
10. การสอนให้เด็กรู้จักคำศัพท์ใหม่ควรเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใช้ซ้ำๆ จนเด็กเกิดความเคยชิน ไม่ควรรีบร้อนสอนคำมากเกินไปในทันที
11. ใช้เพลงหรือคำคล้องจองง่ายๆ ที่เด็กสามารถท่องคลอไปพร้อมกลุ่มเพื่อน เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจในการใช้ภาษา
12. ไม่ควรให้ความสนใจต่อการใช้ภาษาของเด็กมากเกินไป เพราะทำให้เด็กรู้สึกกดดัน
13. หากมีเด็กที่ใช้ภาษาถิ่นจำนวนน้อย ควรทำความเข้าใจกับเด็กอื่นๆ เพื่อให้เด็กไม่ถูกล้อเลียน
14. ครูต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของตนเองที่ไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ จึงควรพูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กให้ใช้ทั้งภาษาถิ่น และภาษาที่สองควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสที่จะเรียนรู้สองภาษา
        การเด็กจะอยู่ในบริบทของสังคมสองภาษา กล่าวคือ เด็กใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษามาตรฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แต่หากครูทำความเข้าใจความแตกต่างของภาษาที่หนึ่ง และภาษาที่สอง รวมทั้งศึกษาวิธีการช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสม เด็กย่อมจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้สองภาษาไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณครูนฤมล เนียมหอม (ครูแมว) 



พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 4 ขวบ









ไม่มีความคิดเห็น: